เป็นสองค่ายอเมริกันใจถึง ที่กล้านำเก๋งระดับคอมแพกต์เครื่องยนต์ดีเซลมาเปิดตลาดในเมืองไทย (ไม่นับกลุ่มรถหรูอย่าง เมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู) โดย“ฟอร์ด” ประเดิมขายมา3 ปีแล้ว กับ โฟกัส 2.0 TDCi ซึ่งนำเข้าทั้งคันจากโรงงานฟิลิปปินส์ ส่วน “เชฟโรเลต ครูซ 2.0 VCDi” โมเดลสดใหม่จากโรงงานจีเอ็มระยอง เพิ่งพร้อมลุยตลาดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
สำหรับฟอร์ด โฟกัส เครื่องยนต์ดีเซล การทำตลาดช่วงแรกจะมาพร้อมเกียร์ธรรมดา 6 สปีด แต่หลังจากการไมเนอร์เชนจ์ปลายปี 2551 จึงเสริมรุ่น “เกียร์ดูอัลคลัทซ์” มาเป็นทางเลือกใหม่ สนนราคาขาย 1.099 ล้านบาท (ปัจจุบันราคา 1.169 ล้านบาท) ซึ่งถือเป็นรถที่มีความคุ้มค่าต่อราคาสูงเมื่อเทียบกับออปชัน และเทคโนโลยีที่ได้รับ ขณะเดียวกันก็น่าจะคุ้มที่สุดเมื่อเทียบกับเก๋งคอมแพกต์เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตรของคู่แข่ง
...เมื่อวันเปลี่ยนเวลาผ่าน ถึงวันนี้โฟกัสเตรียมถอยหลังเข้าสู่ปลายอายุการทำตลาด โดยรุ่นโฉมใหม่โมเดลเชนจ์มีคิวเปิดตัวในเมืองไทยช่วงปลายปี 2555 (ประกอบในเมืองไทย)
สำหรับเชฟโรเลต ครูซ ที่เข้ามาทำตลาดแทน “ออพตร้า” มีทางเลือกเครื่องยนต์หลากหลายทั้ง เบนซิน 1.6 ลิตร และ 1.8 ลิตร และตัวท๊อปเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร
นำรถยนต์ทั้งสองรุ่นมาประกบคู่ หวังลองขับจับสมรรถนะ และเทียบออปชันการใช้งานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เริ่มกันที่รูปลักษณ์ภายนอกต้องย่อมรับว่า “ครูซ” ได้เปรียบเรื่องความสดใหม่ ขณะที่ตัวถังอาจดูใหญ่กว่า แต่เมื่อเทียบมิติกันแล้วแทบไม่ต่างกันมาก (โฟกัส ตัวถังแฮทซ์) โดยความยาวหน่วยมิลลิเมตร (โฟกัส/ครูซ) 4,337/4,600 กว้าง 1,839/1,790 สูง 1,497/1,475 ส่วนระยะฐานล้อ 2,640/2,685
...จะเห็นว่าความยาวและระยะฐานล้อครูซมากกว่าโฟกัสนิดหน่อย ขณะเดียวกันด้วยโครงสร้างช่วงล่างหลังของครูซที่ใช้แบบ “ทอร์ชันบีม” ย่อมส่งผลโดยตรงกับพื้นที่ภายในห้องโดยสารที่กว้างขวาง ขยับขยายได้สบายกว่าโฟกัส
ด้านการตกแต่งภายในครูซกินขาด ทั้งสีสันของแผงคอนโซล เบาะนั่ง ชุดเครื่องเสียง แอร์ พวงมาลัย คันเกียร์ โดยเชฟโรเลตเรียกว่า ดีไซน์แบบดูอัลคอกพิต ซึ่งออกแบบให้ใช้งานง่าย ขณะที่โฟกัส นั้นใช้งานสะดวกเช่นกัน แต่อารมณ์โบราณกว่าชัดเจน
สิ่งที่น่าสนใจเห็นจะเป็นออปชันหลัก ที่ใช้งานบ่อย ซึ่งรถทั้งสองรุ่นมีดีแบ่งๆกันไป ไล่ตั้งแต่ครูซ จัดกุญแจอัจฉริยะ (เปิดประตู กดปุ่มสตาร์ท) แต่โฟกัสเป็นแบบรีโมทเสียบสตาร์ทธรรมดา
ขณะที่ปุ่มควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย ครูซประดับไว้สวยงามใช้งานถนัดมือ พร้อมช่องต่อ USB AUX ตลอดจนครูสคอนโทรล แต่โฟกัสจะมีแป้นควบคุมอยู่หลังพวงมาลัยซึ่งใช้งานยาก ไม่มีครูสคอนโทรล และช่องUSB (ช่วง 6-7 ปีที่แล้วยังไม่ฮิต)
อย่างไรก็ตามโฟกัสจะทดแทนด้วย เครื่องเสียงสามารถเล่น ซีดี เอ็มพี 3 ได้ถึง 6 แผ่น (ครูซเล่นได้เพียง 1 แผ่น และไม่รับไฟล์เอ็มพี3) รวมถึงออปชันที่เหนือกว่าคือ เบาะนั่งคนขับปรับไฟฟ้า (ครูซมือโยก) พร้อมช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง
ด้านเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซล คอมมอนเรล ขนาด 2.0 ลิตรเท่ากัน แต่โฟกัสเป็นแบบแคมชาร์ฟคู่ DOHC ส่วนครูซเป็นแคมชาร์ฟเดี่ยว SOHC โดย TDCi ของโฟกัสให้กำลังสูงสุด 136 แรงม้าที่ 4000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร ที่ 2000 รอบต่อนาที ขณะที่ VCDi ของครูซ รีดกำลังมากกว่า หรือ150 แรงม้าที่ 4000 รอบต่อนาที แรงบิดเท่ากัน 320 นิวตันเมตร ที่ 2000 รอบต่อนาที
...ตอนสตาร์ทเครื่องแล้วยืนอยู่ภาย นอก เสียงเครื่องยนต์ VCDi จะดังกว่า TDCi ชัดเจน หรือหลับตานึกภาพก็คือเสียงปิกอัพอีซูซุประมาณนั้น แต่กระนั้นเมื่อเข้าไปนั่งในห้องโดยสารแล้วปิดประตู เสียงกระหึ่มดังกล่าวกลับเล็ดลอดเข้ามาน้อยมาก
สำหรับระบบส่งกำลัง โฟกัสเลือกใช้เกียร์ดูอัลคลัทซ์ 6 สปีด ส่วนครูซเป็นแบบอัตโนมัติ ทอร์คคอนเวอร์เตอร์ 6 สปีด ซึ่งความต่างนี้มีผลกับบุคลิกการขับขี่พอสมควร
เรื่องเร่งแรงเร้าใจต้องยกให้โฟกัส ที่เครื่องยนต์และเกียร์ดูจะสอดประสานถ่ายทอดกำลังสู่ล้อหน้าได้ลงตัว พลังจัดหนักตั้งแต่ 1,500 รอบ น้ำหนักคันเร่งและระยะกดสัมพันธ์กับอาการพุ่งดึง ส่วนครูซนั้นการตอบสนองไม่ได้ขี้เหร่ แต่สมรรถนะรวมๆออกแนวนิ่งนุ่ม ตลอดจนแป้นคันเร่งเบาลึก ต้องกดเยอะถึงจะรับรู้ถึงการเร่งกระชาก ยิ่งในรอบเครื่องยนต์ต่ำกว่า 2,000 แทบจะไม่มีแรงเอาเสียเลย
การขับในเมืองโฟกัสจะคล่องตัวกว่า ทั้งอัตราเร่ง และการควบคุมฝ่านพวงมาลัยน้ำหนักกระชับมือ สั่งงานซ้าย-ขวาแม่นยำ ส่วนครูซน้ำหนักอาจเบาไปสักนิด จังหวะเลี้ยวมีระยะฟรี หรือต้องเลียเลี้ยงพวงมาลัยอยู่ตลอด
ด้านช่วงล่างหน้า ฟอร์ด โฟกัส เป็น แมคฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง เหล็กกันโคลง หลังเป็นคอนโทรล เบลด มัลติลิงค์ ประกบล้ออัลลอย 16 นิ้ว ยาง 205/55 R16 ส่วนครูซ เป็น แมคเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง เหล็กกันโคลง หลังคานแข็งทอร์ชั่นบีม ประกบล้ออัลลอย 17 นิ้ว ยาง 225/50 R17 ซึ่งถ้าอยู่ในตำแหน่งผู้โดยสารก็นั่งนุ่ม รองรับการสั่นสะเทือนจากพื้นถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
No comments:
Post a Comment