Wednesday, July 20, 2011

Chevrolet Captiva แคปติวา เบนซิน 2.4

หลังจากการเปิดตัว “ครูซ” เก๋งคอมแพกต์รุ่นใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว ล่าสุดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เชฟโรเลตเสริมทัพด้วยรถธง “แคปติวา ใหม่” หรือโฉมไมเนอร์เชนจ์ ซึ่งในช่วงแรกจะมากับเครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตร จากนั้นช่วงปลายปี ถึงจะมีเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตรตามมา (ย้ำว่า 2.0 ลิตร ไม่ใช่ 2.2 ลิตรอย่างที่หลายคนเข้าใจ)
ในรุ่นนี้อาจจะเรียกเป็น “บิ๊กไมเนอร์เชนจ์” ของ “แคปติวา” ก็คงไม่ผิด เพราะนอกจากหน้าตาที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ในส่วนของออปชัน และระบบขับเคลื่อนก็ปรับไปพอสมควร

โดยเครื่องยนต์เบนซินขนาด 2.4 ลิตร แม้จะเป็นบล็อกเดิม แต่ปรับประสิทธิภาพและประสิทธิผลใหม่ พร้อมรองรับแก๊สโซฮอล์ อี85 (ใช้เบนซินล้วนๆ หรือเติมแก๊สโซฮอล์ อี10 อี20 อี 85 ได้หมด) ทั้งปั๊มแรงดันน้ำมัน หัวฉีด รวมถึงกล่องประมาวลผลอีซียู ถูกปรับจูนใหม่ สุดท้ายแล้วให้กำลังสูงสุด 168 แรงม้า (เดิม 142 แรงม้า)ที่ 5,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 229 นิวตัน-เมตร ที่ 4,600 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด (เดิม 5 สปีด)

ช่วงล่างหน้าเป็นอิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลงขนาดใหญ่ขึ้น หลังมัลติลิงค์ 4 จุดยึด ซึ่งรวมๆถูกปรับให้มีเสถียรภาพ และหวังลดแรงสั่นสะเทือนให้น้อยลง ขณะที่รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า LSX และ LS จะใช้ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว ประกบยาง 235/60R17 ส่วนรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ LT เป็น ล้ออัลลอยขนาด 18 ประกบยาง 235/55 R18 และตัวท็อป LTZ ใช้ล้ออัลลอยวงโต19 นิ้ว พร้อมยาง 235/50 R19
ภายในเน้นความหรูหรา แต่ไม่หวือหวาไปกว่าเดิม ที่น่าสนใจคืออุปกรณ์มาตรฐานที่เพิ่มมาให้ทุกรุ่นคือ เบรกมือไฟฟ้าและเครื่องเสียงเล่นวิทยุ ซีดี เอ็มพี3 พร้อมระบบเสียง 3 มิติ ช่องต่ออุปกรณ์ภายนอก AUX ในรุ่น LSX LS LT ส่วนรุ่น LTZ จะเพิ่มช่องต่อ USB พร้อมขับเสียงด้วยลำโพง 8 ตัว ขณะเดียวกันพวงมาลัยมัลติฟังก์ชันในรุ่น LTZ จะจัดเต็มทั้งปุ่มควบคุมเครื่องเสียง ครูสคอนโทรล ปุ่มปรับแรงลมของเครื่องปรับอากาศ


ออปชันความปลอดภัยจัดเป็นมาตรฐานทั้ง ระบบช่วงล่างยกตัวอัตโนมัติ (Self-Levelizer) ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) ระบบเสริมแรงเบรกไฮโดรลิก (HBA) ระบบกระจายแรงเบรกอัตโนมัติ (EBD) และถุงลมนิรภัยคู่หน้า ส่วนรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ LT และ LTZ จะเพิ่มม่านถุงลมนิรภัยด้านข้าง ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี (Traction Control) ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ESP) ระบบป้องกันการพลิกคว่ำ (ARP) ระบบป้องกันการไหลของรถเมื่อขึ้นทางลาดชัน (Hill Start Assist) ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (Hill Descent Control)

การเข้าออกภายในห้องโดยสารสะดวกสบาย ด้วยระยะต่ำสุดจากพื้นเพียง 200 มม. พร้อมบานประตูองศาเปิดกว้าง ขณะที่ตำแหน่งคนขับมองสภาวการณ์ภายนอกชัดเจน ตลอดจนปุ่มควบคุมต่างๆ รวมถึงหน้าจอทัชสกรีน 7 นิ้ว พร้อมระบบเนวิเกเตอร์ ใช้งานถนัดมือ
ส่วนระบบเสียง3 มิติ ต้องยอมรับว่าของเขาดีจริง ด้วยลำโพง 8 ตัว ที่จัดทิศทางเสียงให้ละเอียดคมชัดเหมือนนั่งอยู่ในสตูดิโอ หรือโอเปราเฮ้าส์ เพราะสามารถแยกเสียงเครื่องดนตรีเป็นชิ้นๆ หรือประมวลว่าเสียงมาจากทิศทางใกล้ไกล-ซ้ายขวา ซึ่งคุณภาพเสียงจะแจ่มสุดๆกรณีฟังเพลงจากแผ่นซีดี
      
ขุมพลังเบนซิน 2.4 ลิตร 168 แรงม้า อัตราเร่งตอบสนองดีขึ้นกว่าโมเดลเดิมนิดหน่อย แต่อย่างไรแล้วก็ไม่ถึงกับเร็วทันใจนัก ยิ่งช่วงต้องการพลังหรือเร่งแซงกะทันหันจะมีจังหวะรออยู่นิดๆ ซึ่งเข้าใจว่านี่เป็นรถครอบครัวอเนกประสงค์ บุคลิกต่างๆก็อยู่ในระดับที่ควรจะเป็นคือ ขับสบาย นั่งเพลิน

อย่างไรก็ตามส่วนที่ต้องชม และเซ็ทมาได้อย่าลงตัวคงเป็นเรื่อง การส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบ่งถ่ายกำลังสู่ล้อคู่หน้า-หลังได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนระบบควบคุมการทรงตัว ESP ช่วยให้เอสยูวีคันโต ลุยผ่านทุกสภาพถนนได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพสูงสุด

ในส่วนของอัตราบริโภคน้ำมันในทริปนี้ อาจจะขับโหด ผ่านขึ้นเขา - ลงเขา บางช่วงมีจอดนิ่งติดเครื่องเป็นระยะ สุดท้ายจอแสดงผลแจ้งไว้ 12.5 ลิตร/100 กม. หรือ 8 กม./ลิตร

: manager.co.th

No comments:

Post a Comment

Popular Posts