ธุรกิจรถมือสองในบ้านเราในปัจจุบันมีการเปลี่ยนมือเปลี่ยนเจ้าของแต่ละปี ประมาณ 700,000-800,000 กว่าคัน และเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการเลือกซื้อรถมือสอง ส่วนใหญ่อยู่ราคาที่ตั้งกันไว้ในตลาดซึ่งจะเป็นราคาที่ผู้ขาย (เต็นท์รถ) ตั้งเอาไว้ซึ่งรวมราคาค่าซ่อมแซม ค่าลงทุนในการปรับปรุงให้รถอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ทันทีราคาจึงอาจสูงอยู่ บ้าง แต่อาจไม่บานปลายหากผู้ขายมีความรับผิดชอบที่ดี อย่างไรก็ดี ผู้ค้ารถมือสองที่มีความซื่อสัตย์ และมีจรรยาบรรณในอาชีพก็มีอยู่บ้าง ในมุมมองของผู้บริโภคแล้ว วิธีการในการลดความเสี่ยงจากการซื้อรถมีหนทางในการตรวจเช็คที่ไม่ยากนัก เพียงท่านปฏิบัติตามกฎกติกาที่เราได้รับคำแนะนำจาก N.K. CAR PLAZA ที่ใช้ในการคัดเลือกซื้อรถมือสอง ที่จะเสนอต่อไปนี้เป็นบรรทัดฐานในการดูรถก่อนตัดสินใจ และทดลองรถคันที่ท่านจะซื้อ ประสบการณ์นั้นไม่จำเป็น ถ้าใช้ความรอบคอบ และใจเย็นในการตรวจเช็ค โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่เกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุร้ายแรงมาก่อนหน้านี้ ถ้าหากว่าเจ้าของรถซ่อมแซมรถแค่ให้ใช้งานได้เพื่อเอาไว้ขจายต่อ ร่องรอยต่าง ๆ จะเห็นได้อย่างชัดเจน เพราะถ้าซ่อมกันจริง ๆ แล้วราคาค่าซ่อมจะสูงมาก แต่สมัยนี้มีอู่คุณภาพดี ๆ ที่สามารถซ่อมงานที่เสียหากมาก ๆ ให้ดูดีเหมือนปกติ ด้วยการเปลี่ยนชิ้นส่วนและขั้นตอนการซ่อมที่พิถีพิถัน การตรวจเช็คในบางทีก็อาจจะดูไม่ออกเหมือนกัน สิ่งที่เป็นสัญญาณเตือนเป็นอย่างดีอีกข้อก็คือ เอกสารจากเจ้าของมีพิรุธหรือไม่ตรงกัน หรือหากมีการแก้ไข ควรตรวจสอบอย่างละเอียด ถ้าพบข้อสงสัยมากมายในเรื่องเอกสาร เราขอแนะนำว่าท่านควรเลี่ยงซื้อรถคันดังกล่าว เพราะปัญหาที่มีอยู่ในรถจะเป็นอะไรที่ตัวแทนจำหน่ายจะไม่ยอมรับผิดชอบหลัง จากที่ท่านตัดสินใจซื้อไปแล้ว นี่คือเหตุผลที่ทำไม่ นิตยสารกรังด์ปรีซ์ ต้องการที่จะเผยแพร่ข่าวสารให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงรายละเอียด และข้อแนะนำที่ถูกต้องในการซื้อรถมือสองทั่ว ๆ ไป ท่านจะได้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคในการซื้อรถมือสอง และวิธีการตรวจเช็ครถใช้แล้วเฉพาะหลักสำคัญ ๆ แบบง่าย ๆ ใช้คำศัพท์ที่ไม่เป็นทางการมากนัก เพื่อที่จะได้เข้าใจได้ไม่ยากนัก
ขั้นตอนที่ 1 ตรวจเช็คโครงสร้าง
ก่อนที่ท่านจะซื้อรถมือสอง ให้ดูสภาพของโครงสร้างภายนอกตัวรถก่อน จากด้านหน้าไปจรดด้านท้ายรถ สังเกตตามตะเข็บรอยต่อของหลังคา ขอบกระจกหน้า-หลัง จากนั้นเปิดฝากระโปรงหน้าดูที่คานหม้อน้ำทั้งด้านบนและด้านล่าง ขอยึดกันชนที่ต่อเชื่อมมาจากแชสซีส์ ดูตะเข็บรอยต่อภายในห้องเครื่องให้สังเกตดูว่ามีร่องรอยของความเสียหายหรือไม่ เพราะรถที่ถูกชนมาอย่างหนักพวกรอยเชื่อมหลังจากซ่อมมาแล้ว มักจะไม่เหมือนกับที่มาจากโรงงาน อันนี้คงต้องใช้การสังเกตดูหลาย ๆ คันมาเปรียบเทียบกัน และรถที่ถูกชนมาหนักพวกนี้เวลาที่ใช้งานไปนาน ๆ มักจะพบปัญหาตามมา และในบางครั้งศูนย์ของรถอาจจะคลาดเคลื่อนมากจนเกินที่จะแก้ไขได้ด้วย แต่ถ้าหากมีร่องรอยบ้างไม่มากนัก ก็แสดงว่ารถคันนี้มีการซ่อมแซมจากการชนมาบ้างแล้วแต่ไม่หนักมากนัก หรือถ้าไม่พบเลยก็จะเป็นอันดีที่สุดการดูด้านหลังก็ให้ดูเหมือนด้านหน้าแต่โครงสร้างส่วนหลังนี้มีความสำคัญน้อยกว่าส่วนหน้า ถ้าจะให้เปรียบเทียบโครงสร้างของรถกับโครงสร้างของคน ก็คงจะเปรียบได้กับกระดูกที่เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ร่างกายของเราสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เช่น ถ้าขาเกิดอุบัติเหตุขาหัก ก็จะทำให้เดินกะเผลกเสียศูนย์ เดินแล้วไม่ปกติ เป็นต้น ซึ่งก็เหมือนกับรถยนต์ หากเสียศูนย์จนไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว เมื่อเบรกอย่างกะทันหันรถก็อาจหมุนได้ หรือขณะขับขี่ผ่านถนนที่มีน้ำท่วมขังรถก็อาจลื่นไถลได้ง่ายแม้จะไม่ได้เบรกก็ตาม โครงสร้างของรถยนต์นั้น หลายส่วนสามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ และก็มีบางส่วนที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือถ้าจะเปลี่ยนก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนมากจนไม่มีใครนิยมทำกัน อย่างบังโคลนหน้า ฝากระโปรง ประตู สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่แทนได้ในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุมา ส่วนแก้มหลับที่ต่อกับเสาหลังคารถหรือเฟรมตัวถังกับเสาประตู เป็นชิ้นส่วนที่ไม่นิยมเปลี่ยนกัน ด้วยขั้นตอนความยุ่งยากและความแข็งแรงของส่วนนั้นที่จะลดลงหลังจากทำการซ่อมไปแล้ว จึงไม่เป็นที่นิยมของอู่ซ่อมจนพอจะเรียกได้ว่าเป็นชิ้นส่วนที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ จึงควรจะต้องดูที่บริเวณนี้ให้ดี
ขั้นตอนที่ 2 ตรวจเช็คสภาพตัวถังภายนอกและสีรถ
ลำดับถัดมาก็เป็นเรื่องของสภาพตัวถังภายนอก ให้ดูว่าสภาพของสีรอบ ๆ ตัวรถว่ามีการบวมปูดของสีหรือสีซีดด่าง ผุเป็นสนิม มากน้อยแค่ไหน เพราะการทำสีนั้นแต่ละส่วน แต่ละบริเวณนั้น เช่น บังโคลน ค่าทำสีชิ้นละ 2,000-3,000 บาท ถ้าต้องทำสีมากหลาย ๆ จุด คำนวณดูแล้วค่าทำสีจะสูงมากก็ไม่ไหวเหมือนกันขั้นตอนที่ 3 ตรวจเช็คเครื่องยนต์
คราวนี้ว่าด้วยเรื่องเครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ แม้ว่าในปัจจุบันนี้รถญี่ปุ่นจะมีเครื่องใช้แล้วจากญี่ปุ่นเข้ามาจำหน่ายมากมายและหาง่ายก็ตาม แต่ราคาของเครื่องยนต์ก็เป็นเรือนพันเรือนหมื่นจึงควรตรวจเช็คอย่างรอบคอบ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเงินโดยไม่จำเป็น จากนั้นเมื่อสตาร์ทเครื่องแล้ว ให้ดูว่าเครื่องยนต์เดินเรียบหรือไม่ และให้ฟังดูว่ามีเสียงอะไรผิดปกติหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน มีเสียงดังแต็ก...แต็ก ของวาล์วหรือไม่ หรือเสียงดังกั๊ก ๆ ที่เกิดจากแคมชาฟท์หรือเพลาข้อเหวี่ยง สลักลูกสูบหรือไม่ ถ้ามีก็แสดงว่าเครื่องยนต์มีปัญหาใหญ่แน่ ๆ ต่อมาให้ลองฟังดูว่ามีเสียงของลูกปืนไดชาร์จ ไดสตาร์ทด้วย จากการฟังก็มาถึงการใช้วิธีดมกลิ่นที่ท่อไอเสียดู ถ้ามีกลิ่นไม่ฉุนมากนักก็แสดงว่าเผาไหม้ได้หมด แต่ถ้ามีกลิ่นฉุนรุนแรงหรือมีควันสีดำออกมาเวลาเร่งเครื่องก็แสดงว่าเผาไหม้ไม่หมดเครื่องยนต์ไม่สมบูรณ์ และรถคันนั้นจะกินน้ำมันมากกว่าปกติอีกด้วย หรือถ้าเป็นควันสีขาวไหลออกทางปลายท่อ ยิ่งมีปริมาณมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงว่าเครื่องหลวมมากเท่านั้นขั้นตอนที่ 4 ตรวจเช็คระบบแอร์
ตรวจเช็คตู้แอร์ดูว่ามีเสียงของพัดลมดังผิดปกติหรือไม่ เสียงของคอมแอร์ดังขึ้นมาไหม ซึ่งทดลองได้ไม่ยากนัก แค่ปิด-เปิดแอร์แล้วฟังเสียงดู ถ้ามีเสียดังตอนเปิด และเงียบลงตอนปิดก็แสดงว่าคอมแอร์เริ่มมีปัญหาแล้วล่ะ
ขั้นตอนที่ 5 ตรวจเช็คระบบเกียร์
สำหรับระบบเกียร์นั้นมีวิธีการตรวจเช็คแบบง่าย ๆ รถจอดอยู่กับที่ก็สามารถตรวจได้ ถ้าเป็นเกียร์อัตโนมัติ ให้ลองเข้าเกียร์ D โดยใช้เท้าซ้ายเหยียบเบรกเอาไว้แล้วใช้เท้าขวาเหยียบคันเร่งลงไปเรื่อย ๆ ถ้ารอบอยู่ที่ประมาณ 2,000 รอบ/นาที ก็ถือว่าใช้ได้ แต่ถ้ารอบเลยขึ้นไปถึง 2,500-3,000 รอบขึ้นไป ก็แสดงว่าชุดคลัตช์เริ่มลื่นแล้ว ซึ่งค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมนั้นสูงมาก ตั้งแต่ 20,000 ถึงหลักแสนแล้วแต่อาการ
เกียร์ธรรมดาก็เช่นกัน ให้ติดเครื่องและเข้าเกียร์หนึ่งโดยใช้เท้าขวาเหยียบเบรกเอาไว้และค่อย ๆ ปล่อยคลัตช์ดู ถ้าเครื่องตับแสดงว่าคลัตช์ยังดีอยู่ แต่ถ้าเครื่องยังไม่ดับก็เป็นอันว่าชุดคลัตช์กลับบ้านไปแล้ว
ขั้นตอนที่ 6 การตรวจเช็คสภาพห้องโดยสาร
การตรวจสอบภายในห้องโดยสาร ให้ตรวจเช็คอย่างละเอียดว่าระบบไฟฟ้าทั้งหลาย ระบบไฟสัญญาณต่าง ๆ บนหน้าปัดขณะที่บิดกุญแจไปยังตำแหน่ง ON สัญญาณเครื่องหมายต่าง ๆ บนหน้าปัดจะต้องมีโชว์ขึ้นมาทั้งหมด เมื่อเครื่องยนต์สตาร์ทติดแล้วไฟต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องดับหมด ซึ่งถ้าตรงไหนยังไม่ดับแสดงว่าระบบนั้นต้องมีปัญหา เช่น ไฟ ABS ถ้าติดอยู่แสดงว่าระบบ ABS มีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งแน่ และอาจจะต้องเสียเงินค่าซ่อมเป็นเงินหลายตังค์แน่ ๆ หรือถ้าไฟ AIR BAG ติดอยู่ก็แสดงว่าระบบถุงลมนิรภัยมีปัญหาแน่
No comments:
Post a Comment